วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตำนานการฟ้อนรำ


          ในบางยุคของชาวอินเดียถือว่า พระอิศวรเป็นเทพเจ้าที่มีผู้เคารพนับถือมาก ยุคนี้พระอิศวรทรงเป็นนาฎราช (ราชาแห่งการร่ายรำ) มีประวัติทั้งในเมืองสวรรค์ และเมืองมนุษย์ โดยมีเรื่องเล่าขานไว้ว่า ฤาษีพวกหนึ่งประพฤติอนาจารฝ่าฝืนเทวบัญชา พระอิศวรทรงขัดเคืองจึงทรงชวนพระนารายณ์เสด็จมายังโลกมนุษย์ เพื่อทรมานฤาษีพวกนั้น เมื่อพระองค์ทรงเห็นพระฤาษีสิ้นฤทธิ์ จึงทรงฟ้อนรำทำปาฏิหาริย์ขึ้น ขณะนั้นมียักษ์ค่อมตนหนึ่งชื่อ "มุยะกะละ (บางตำราเรียกว่า มุยะละคะ หรืออสูรมูลาคนี) มาช่วยพวกฤาษี พระอิศวรจึงทรงเอาพระบาทเหยียบยักษ์ค่อมนั้นไว้ แล้วทรงฟ้อนรำต่อไปจนหมด กระบวนท่าซึ่งร่ายรำในครั้งนี้ทำให้เกิดเทวรูปที่เรียกว่า "ปางนาฏราช" หรือ "ศิวะนาฏราช (Cosmic Dance)" บางทีก็เรียกว่า "ปางปราบอสูรมูลาคนี" เมื่อพระอิศวรทรงทรมานพวกฤาษีจนสิ้นทิฐิ ยอมขอขมาต่อพระเป็นเจ้าทั้งสองแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับเขาไกรลาศ ส่วนพระนารายณ์ก็เสด็จกลับยังเกษียรสมุทร ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการร่ายรำครั้งที่ ๑ ของพระอิศวร
          ต่อมาพระยาอนันตนาคราชซึ่งได้ติดตามพระเป็นเจ้าทั้งสองเมื่อครั้งไปปราบพวกฤาษี ได้เห็นพระอิศวรฟ้อนรำเป็นที่งดงาม จึงใคร่อยากชมพระอิศวรฟ้อนรำอีก พระนารายณ์จึงแนะนำให้ไปบำเพ็ญตบะบูชาพระอิศวรที่เชิงเขาไกรลาศ เพื่อให้พระอิศวรทรงเมตตาประทานพรจึงทูลขอพรให้ได้ดูพระอิศวรทรงฟ้อนรำตามประสงค์ ครั้นเมื่อพระยาอนันตนาคราชบำเพ็ญตบะ จนพระอิศวรเสด็จมาประทานพรที่จะฟ้อนรำให้ดู โดยตรัสว่าจะเสด็จไปฟ้อนรำให้ดูในมนุษยโลก ณ ตำบลจิดรัมบรัม หรือ จิทัมพรัม ซึ่งอยูทางตอนใต้ของอินเดีย เพราะเห็นว่าเมืองนี้เป็นศูนย์กลางของมนุษยโลก พระอิศวรแสดงการฟ้อนรำให้ประชาชนชมถึง ๑๐๘ ท่าด้วยกัน ประชาชนจึงสร้างเทวาลัยขึ้นที่เมืองนี้ เพื่อเป็นที่เคารพบูชาแทนองค์พระอิศวร ภายในเทวาลัยนี้แบ่งออกเป็น ๑๐๘ ช่อง เพื่อแกะสลักท่าร่ายรำของพระอิศวรไว้จนครบ ๑๐๘ ท่า การร่ายรำครั้งนี้ถือเป็นการร่ายรำครั้งที่ ๒ ของพระอิศวร
          ในสมัยต่อมาพระอิศวรจะทรงแสดงฟ้อนรำให้เป็นแบบฉบับ จึงเชิญพระอุมาให้ประทับเป็นประธานเหนือสุวรรณบังลังก์ ให้พระสรัสวดีดีดพิณ ให้พระอินทร์เป่าขลุ่ย ให้พระพรหมตีฉิ่ง ให้พระลักษมีขับร้อง และให้พระนารายณ์ตีโทน แล้วพระอิศวรก็ทรงฟ้อนรำให้เทพยดา ฤาษี คนธรรพ์ ยักษ์ และนาคทั้งหลายที่ขึ้นไปเฝ้าได้ชมอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการร่ายรำครั้งที่ ๓ ของพระอิศวร โดยในครั้งนี้พระองค์ทรงให้พระนารทฤาษีเป็นผู้บันทึกท่ารำ แล้วนำมาสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์
ตำรารำของไทย
          ตำรานาฏยศาสตร์ ที่พวกพราหมณ์นำเข้ามาสอนในประเทศไทยนั้น ไม่มีต้นฉบับเหลืออยู่ให้รู้ได้ เข้าใจว่าคงจะได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ อาจจะทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน แล้วบอกเล่าสั่งสอนกันต่อๆมาเท่าที่รู้ได้ เพราะมีท่ารำของไทยที่ลักษณะ และชื่อท่ารำคล้ายคลึงกับในตำรานาฏยศาสตร์ ที่แปลงชื่อเป็นภาษาไทยก็มีแต่ต้นฉบับก็่สูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นส่วนมาก ที่คงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันนี้มีตำราท่ารำต่างๆเขียนรูประบายสีปิดทอง ๑ เล่ม เหลืออยู่เฉพาะตอนต้นเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ตำราท่ารำเหมือนกับเล่มแรก แต่เขียนฝุ่นเป็นลายเส้น ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓ มีภาพรำบริบูรณ์ถึง ๖๖ ท่า ได้มาจากพระราชวังบวร ท่ารำ และการเรียงลำดับท่าเหมือนเล่มแรก เข้าใจว่าจะเป็นสำเนาคัดจากเล่มสมัยรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง
          เข้าใจว่าตำราเช่นนี้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตร) ช่างในกรมศิลปากรกับขุนประสิทธิจิตรกรรม (อยู่ ทรงพันธ์) ช่างเขียนในหอพระสมุดฯ ช่วยกันเขียนภาพใหม่ตามแบบท่ารำในตำราเดิม นำมาพิมพ์ไว้ใน "ตำราฟ้อนรำ" เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ชื่อท่ารำต่างๆในตำราของไทยเรานั้นปะปนกันอยู่ดังนี้
          ๑. ชื่อท่ารำที่แปลจากตำราอินเดียโดยตรง
          ๒. ชื่อท่ารำที่คลาดเคลื่อนจากตำราเดิม เพราะบอกเล่าสืบต่อกันมาหลายต่อ
          ๓. ชื่อท่ารำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นในภายหลัง




อ้างอิง
http://www.thaidances.com/data/1.asp

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น